วันจันทร์

เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง : วิธีใหม่หรือไร้ทิศทาง?

ในยุคข้อมูลข่าวสารที่มีการนำเสนออย่างไม่มีพรมแดน ผู้รับสารมีโอกาสตระหนักถึง “อำนาจ” ของผู้เล่าเรื่องได้ชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน เรื่องที่เล่านั้นอาจเป็นแค่เรื่องธรรมดาที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าผู้เล่ามีโวหารโดดเด่นแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัว เรื่องธรรมดานั้นก็ดูจะมีน้ำหนักและมีความสำคัญมากขึ้น เรื่องบางเรื่องจึงเป็นเพียงวัตถุที่ผู้เล่าใช้สร้างภาพและแสดงพลังอำนาจของผู้เล่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ


ทำไมต้อง “เรื่องเล่า”


หนังสือชื่อยาวว่า “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง” ของศิริวร แก้วกาญจน์ มีข้อสังเกตที่โดดเด่นด้วยการใช้คำว่า “เรื่องเล่า” ซึ่งผู้เล่าขยายความในจดหมายถึงบรรณาธิการว่า “ที่ส่งมาให้ท่านอ่านนี้ บางทีการที่จะเรียกว่า เรื่องแต่งหรือเรื่องจริงนั้น ฟังดูแล้วไม่น่าจะถูกต้องเหมาะสมเท่ากับจะเรียกว่าเรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง” การที่ใช้คำว่าเรื่องเล่าเรียกเรื่องราวในเล่มนี้ คงเป็นเพราะผู้เล่าต้องการจะให้เกิดความน่าเชื่อถือว่าเป็นเรื่องจริงมากกว่าเรื่องแต่ง ซึ่งแต่ก่อนเคยเรียกกันว่าเรื่องสั้น แต่เรื่องสั้นมีกรอบของการเป็นเรื่องสมมุติ ไม่อาจสร้างมิติของบริบทใหม่ให้แก่เรื่องที่เล่าได้


คำว่าเรื่องเล่าจึงเข้ามามีบทบาทเปิดพื้นที่ให้เข้าใจได้ว่า เรื่องที่จะได้ยินได้ฟังต่อไปนี้ มีมูลจากความจริงที่พบเห็นได้ในสังคมทั้ง 12 เรื่องกล่าวถึงชีวิตเล็กๆ ของคนธรรมดาสามัญมีชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ผู้เล่าเก็บรายละเอียดการดำเนินชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในซอกหลืบของป่าคอนกรีตมาตีแผ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสามีภรรยาที่ต้องเลิกรากันไปเพราะมีสาเหตุมาจากท่อประปาแตกใน “เกี่ยวกับท่อประปา” หรือเรื่องของคุณประหยัดที่ไม่อาจฝืนแรงต้านบริโภคนิยมจากสังคมได้ ในที่สุดเขาก็ต้องมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นปัจจัยที่ 5 เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ใน “เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ” หรือเรื่องของคนดูแลตึกที่ชอบปิดประกาศต่างๆ จนกระทั่งทั่วทั้งตึกไม่มีที่ว่างจะปิดใบประกาศใดๆ อีก ใน “เกี่ยวกับใบปิดประกาศ” เรื่องของชัชรินทร์ที่ไม่อาจทนเสียงเห่าหอนของสุนัขข้างบ้านได้ และพลอยเกลียดมด หนู ฯลฯ ในบ้านไปด้วย เขาจึงวางแผนกำจัดสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ จนกระทั่งพิชิตตัวต้นเหตุได้สำเร็จใน “เกี่ยวกับสัตว์ชนิดต่างๆโดยเฉพาะหมา” และเรื่องของเด็กสาวที่ชื่อว่าตาลตะวัน ผู้รอบรู้เรื่องราวข่าวคราวของดาราไทยอย่างดีเยี่ยม แต่เธอกลับไม่รู้แม้แต่เรื่องพ่อของตัวเองเลยใน “เกี่ยวกับผู้รอบรู้เรื่องดาราภาพยนตร์ไทย” เรื่องราวของคนเล็กๆ เหล่านี้ เมื่อนำมาเล่าด้วยวิธีการที่ไม่ธรรมดาก็ทำให้รู้สึกว่ากลายเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญขึ้นมาได้ หลายเรื่องชวนให้ขบคิดว่าในสังคมปัจจุบันนี้ช่างมีเรื่องราวที่ไร้สาระไหลวนผ่านสื่อมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ บางขณะที่เราติดตามเสียงเล่าอยู่นั้น เราอาจจะได้ยินอีกเสียงหนึ่งที่มีลีลาการเล่าคลับคล้ายคลับคลากับเสียงของเจ้าชายน้อยที่มาจากดาวอื่น เหมือนกับจะมาตั้งคำถามกับคนในบ้านนี้เมืองนี้ว่าทุกวันนี้ เราเคยสังเกตเห็นกิจกรรมของคนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น นักตำหนิ นักปิดไฟ หรือนักบิดใบประกาศ แล้วคนเหล่านี้ก็นับวันจะมีมากขึ้น แต่เราผู้อยู่ร่วมกันกับเขามิได้เฉลียวใจเลยว่าเราเองเคยทำเช่นเขาบ้างหรือเปล่า เราเป็นอย่างเพื่อนของคุณประหยัดหรือไม่ หรือเราเคยรู้สึกเหมือนที่ชัชรินทร์รู้สึกสักครั้งหนึ่งไหม


การเล่าเรื่องแบบใหม่หรือไร้เหตุผล


เรื่องเล่าทั้ง 12 เรื่องที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เกี่ยวกับ” ทั้งหมดนั้น แม้จะเป็นเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญและกล่าวถึงเหตุการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปก็ตาม แต่ความโดดเด่นกลับอยู่ที่การเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กันในเชิงเหตุผล ดังที่เล่าเรื่องของนพรัตน์กับวัลญา สองสามีภรรยา ซึ่งทะเลาะกันหลังจากท่อน้ำประปาแตกว่า สาเหตุที่ท่อประปาในบ้านของทั้งสองแตกนั้น อันที่จริงพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่จะพูดว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ถูกต้องนัก ท่อประปาแตกเพราะพนักงานบริษัทกำจัดปลวก เหตุที่พนักงานบริษัทกำจัดปลวกทำท่อประปาแตกก็เพราะความฉ้อฉลของพวกเขาเอง แม้พนักงานฉีดปลวกจะฉ้อฉล แต่เราก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าพวกเขาฉ้อฉลเขาและเธอผู้เป็นเจ้าของบ้าน แต่เราก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าพวกเขาไม่ได้ฉ้อฉลผู้เป็นเจ้าของบ้านเนื้อความที่อธิบายอย่างยอกย้อนเยิ่นเย้อข้างต้น ทำให้เราออกจะรู้สึกรำคาญกับวิธีการเล่า แต่ก็ทำให้เราเห็นเจตจำนงของผู้เล่าได้ว่าต้องการนำเสนอความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลอย่างที่ผู้ฟังอยากให้เป็น และต้องการจะประชดเสียดสีบรรดา “นักเหตุผล” ทั้งหลายที่พยายามจะอธิบายเหตุผลด้วยตรรกะที่ไม่เป็นเหตุผล อาจจะเพื่อสร้างความฉงนฉงายด้วยวิธีแบบใหม่ให้แก่ผู้อ่าน เป็นการขยิบตาบอกว่าทีนี้อย่าคาดหวังว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรที่เข้าใจง่ายๆ และยิ่งจะต้องรับรู้เรื่องราวที่ดูผิวเผินว่าเกี่ยวข้องกันแต่ความจริงไม่เกี่ยวกันเลยก็อาจเป็นได้ ซึ่งในสังคมปัจจุบันก็มีเรื่องราวมากมายที่ใช้วาทกรรมเสมือนว่าจะอธิบายขยายความ แต่กลับไม่เป็นเหตุผลตามที่ควรจะเป็นให้เห็นๆ กันอยู่แล้ว แต่ความไม่เป็นตรรกะนั้นถูกกลบเกลื่อนด้วยวลีเชื่อมความจนทำให้เกิดความซับซ้อนทางความคิด และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ผู้เล่าต้องการ


ถ้าจะพิจารณาโครงสร้างของเรื่องจากวิธีการเล่า ก็อาจจะยากอยู่สักหน่อยที่จะแสดงโครงสร้างให้ปรากฏเป็นแผนภูมิ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น มันออกจะดูซ้ำๆ วนเวียนกันไปเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด เช่นบางเรื่องก็ดำเนินเรื่องด้วยการย้อนต้น คือกล่าวถึงเหตุการณ์สุดท้าย แล้วเรียงลำดับเหตุการณ์ไปหาต้นเรื่อง กลับมาจบสุดท้ายจุดเดียวกับที่เริ่มเรื่อง หรือบางเรื่องก็เล่าไปเรื่อยๆ คล้ายการตั้งข้อสังเกตมากกว่าจะมีลักษณะเป็นเรื่องสั้น ที่มีการผูกปมขัดแย้ง แล้วหาทางคลี่คลายเรื่อง เรื่องเล่าในลักษณะนี้ คล้ายกับเรื่องสั้นๆ ที่เป็นเรื่องราวของคนใดคนหนึ่งในสังคม ซึ่งมีแง่คิดที่ควรพิจารณาสังเกตในแง่มุมต่างๆ การเล่าเรื่องในลักษณะนี้ เราจะเรียกว่าเป็นการเล่าแบบใหม่ก็ดูจะไม่ถนัดนัก เพราะก็เคยมีเรื่องสั้นๆ มากมายที่เล่าไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก แต่ที่พอจะเห็นเป็นความแปลกใหม่อยู่บ้างก็ตรงที่วิธีการเขียน ที่ว่าแปลกก็อาจเป็นเพราะยังไม่มีเรื่องเล่าที่ไหนใช้ภาษาได้น่าฉงนเช่นนี้ เป็นภาษาที่ดูเหมือนจะพยายามอธิบายความอยู่ตลอดเวลา แต่บางทีก็ชวนให้น่าเบื่อกับความซ้ำซากได้เหมือนกันความหมายกับวิธีการเขียนการให้ความสำคัญกับความหมายนับเป็นวิชาที่สำคัญในสาขาภาษาศาสตร์


เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อความใดข้อความหนึ่งแล้ว จะพบว่าลักษณะเด่นของข้อความนั้นมีความหมายแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวซ้ำคำ ซ้ำวลี หรือแม้แต่การเว้นวรรคหรือการย่อหน้าก็ล้วนแต่สื่อความทั้งสิ้น วิธีการเขียนในเรื่องเล่าชุดนี้ที่ปรากฏอย่างโดดเด่นก็คือ การใช้วลีกล่าวเกริ่นว่า การที่จะพูดว่า อาจจะกล่าวได้ว่า ดูเหมือนว่า อาจจะพูดได้ว่า หากจะพูดให้ใกล้เคียงว่า เราก็ไม่แน่ใจว่า หรือกล่าวอีกแบบก็ต้องบอกว่า ฯลฯ วลีเหล่านี้ถูกนำมาใช้มากเป็นประวัติการณ์ จนรู้สึกได้ถึงน้ำเสียงประชดเสียดสีการใช้วลีลักษณะนี้ในสังคมปัจจุบัน ดังที่ขึ้นต้นเรื่องเล่า “เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ” ว่า


ควรกล่าวด้วยว่า แม้แต่คุณประหยัดก็ยังแปลกใจตัวเอง ตอนนั้นคือเย็นย่ำของวันจันทร์ที่ 2 เดือนกันยายน ในความรับรู้ของหัวหน้าแผนกที่ประเมินผลงานจากตารางลงเวลาการทำงาน อาจจะกล่าวได้ว่า คุณประหยัดเป็นคนขยันและนับเป็นพนักงานที่ดีคนหนึ่งทีเดียวทว่าความจำเจของหน้าที่การงานส่งผลให้ความกระตือรือร้นของคุณประหยัดอ่อนตัวลง และนี่คือสิ่งที่หัวหน้าแผนกไม่รับรู้


ผู้เล่าเรื่องใช้วลีกล่าวเกริ่นว่า “ควรกล่าวด้วยว่า” ซึ่งแท้จริงแล้ว วลีนี้ ควรจะทำหน้าที่เป็นวลีเชื่อมความมากกว่าจะนำมากล่าวขึ้นต้นประโยค ซึ่งเข้าใจว่าผู้เล่าคงจะตัดมาเฉพาะชีวิตช่วงหนึ่งของคุณประหยัดมาเล่า เรื่องก่อนหน้านี้คงมีมาแล้ว แต่จะเล่าเฉพาะเรื่องอนาคตอันใกล้นี้เท่านั้นอีกลักษณะหนึ่งคือ การใช้วลีขยายความ ที่ดูเหมือนว่ากำลังทำหน้าที่อธิบายข้อความก่อนหน้านี้ให้มีความหมายกระจ่างขึ้น แต่กลายเป็นว่าเมื่อขยายความแล้ว ความหมายเพิ่มขึ้นเพียงนิดหน่อยเท่านั้น เช่น “การที่จะพูดว่า เธอเป็นแฟนพันธุ์แท้ของดาราไทยทุกคนนั้น นับว่ายังให้เกียรติเธอน้อยไป ที่ถูกเราควรกล่าวว่า เธอเป็นยิ่งแฟนพันธุ์แท้ของดาราไทยทุกคนเสียอีก”วลีที่นำมาใช้ จึงมิได้ทำหน้าที่ขยายความแต่อย่างใดเลย เช่นเดียวกับความพยายามที่จะใช้วลีที่ว่า หรือกล่าวอีกแบบก็ต้องบอกว่า ในเรื่อง “เกี่ยวกับนักเดินเรือบนดาดฟ้าตึกใบหยก”


ย่างเข้าเดือนที่สามแล้วที่เฒ่าศรีมินนั่งอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ย่ำรุ่ง กระทั่งสามโมงเช้า สูบบุหรี่มวนต่อมวนอยู่บนเก้าอี้ตัวโปรด บนดาดฟ้าตึกใบหยก กลางกรุงเทพมหานคร จิบกาแฟดำ จ้องมองไปยังทิศซึ่งดวงตะวันฉายแสง จมอยู่ในความเงียบ รอคอยการมาถึงของดวงตะวันยามเช้า จมอยู่ในความเงียบ หรือกล่าวอีกแบบก็ต้องบอกว่า นานๆ ครั้งแกถึงจะพึมพำกับตัวเองเบาๆด้วยประโยคบางประโยค ชื่อเรียกบางชื่อ ช้าๆ สั้นๆ และอย่างครุ่นคิด


วลีที่ว่า “หรือกล่าวอีกแบบก็ต้องบอกว่า” เหมือนจะทำหน้าที่ขยายข้อความที่ว่า “จมอยู่ในความเงียบ” แต่เรา มาก่อนให้กระจ่างขึ้น แต่ก็กลับเป็นว่า ได้ใจความเกือบเท่าเดิม


ในเรื่องเล่าทั้ง 12 เรื่องนี้ จะมีข้อความคล้ายๆ แบบนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็น่าชวนฉงนหรือมิใช่ถึงวิธีการเขียนด้วยวลีเช่นนี้การเขียนอีกลักษณะหนึ่งที่น่าทึ่งมิใช่น้อยก็คือ การใช้ข้อความซ้ำ ๆ เพื่อสื่อความหมายว่าเพิ่มมากขึ้น เช่น “แล้วทั้งสองก็เริ่มทะเลาะกัน แล้วทั้งสองก็เริ่มทะเลาะกันรุนแรงขึ้น แล้วทั้งสองก็เริ่มทะเลาะกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ“ หรือใช้ข้อความซ้ำ เพื่อสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นเหตุการณ์ซ้ำๆ เช่น “เกือบจะเที่ยงคืนเข้าไปแล้ว แม่ของคุณประหยัดพึมพำกับตัวเอง เกือบๆ จะเที่ยงคืนเข้าไปแล้ว เกือบๆ จะเที่ยงคืนเข้าไปแล้ว นกขุนทองส่งเสียงเจื้อยแจ้วจากในกรง เกือบๆ จะเที่ยงคืนเข้าไปแล้ว”


การเล่าแบบซ้ำ ๆ ที่ดูเหมือนเป็นการอธิบายขยายความ หรือการเพิ่มความหมายว่ามากด้วยการซ้ำๆ นี้ ก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกจุดประสงค์หนึ่งของผู้เล่าเรื่อง เพราะเมื่อเราได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าซ้ำๆ ในสังคมจริง แม้อาจเป็นเรื่องโหดร้าย แต่พอฟังซ้ำๆ ก็เกิดความคุ้นชินและเบื่อหน่ายได้


หากผู้อ่านเรื่องเล่าที่ได้ยินเสียงซ้ำไปซ้ำมาอย่างเรียบเรื่อยเนือยเนิบแล้วเกิดความรู้สึกซ้ำซากเบื่อหน่าย นั่นย่อมหมายถึงว่าผู้เล่าเรื่องอาจบรรลุวัตถุประสงค์ของตนแล้วก็ได้สร้างสรรค์ใหม่หรือไร้ฝีมือ?ผู้เล่าเรื่องในปัจจุบัน ต่างแสวงหาหนทางสร้างสรรค์ผลงานในแง่มุมใหม่ๆ บางคนก็อาจค้นพบหนทางโดยบังเอิญคือมีผู้อ่านรับสารแล้วชื่นชอบ หากไม่ประสบความสำเร็จก็อาจต้องค้นหากันต่อไป ต้องพิสูจน์ ทดลองกันเพื่อหาความแปลกใหม่อีก


สำหรับเรื่องเล่าเล่มนี้ หากจะคิดว่านี่เป็นวิธีการเขียนแบบใหม่ ก็อาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากนัก เพราะก็เคยมีการสร้างสรรค์ในลักษณะคล้ายๆ ทำนองเสียดสีเช่นนี้มาแล้ว แต่ถ้าจะคิดว่านี่เป็นหนทางใหม่ที่ยังต้องแสวงหาและทดลองต่อไปก็อาจจะใช่ แต่ถึงอย่างไร ผู้เล่าเรื่องคนนี้ก็คงจะไม่ไร้ฝีมือเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยเรื่องเล่าที่น่าเบื่อหน่ายเล่มนี้ก็มีรางวัลมาประดับปกบ้างแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: